Metropolitan Symphony คือประติมากรรมเสียงแบบอินเทอร์แอคทีฟที่แปลงเสียงรอบข้าง และเสียงต่าง ๆ ของเมืองให้กลายเป็นซิมโฟนีที่มีชีวิตชีวา ซึ่ง ยูริ ซูซูกิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น ผู้พำนักอยู่ที่ลอนดอน ซึ่งมักจะเล่นกับการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนโดยใช้เสียงเป็นตัวกลาง ได้สร้างสรรค์ผลงานให้สะท้อนกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร และ วัน แบงค็อก พร้อมได้แรงบันดาลใจจากสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายของไทย

ประติมากรรมนี้จะจับเสียงของผู้ชมที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผลงานผ่านไมโครโฟนความละเอียดสูง พร้อมดูดซับเสียงจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างประมวลผลแบบเรียลไทม์ผ่านอัลกอริทึมที่ออกแบบโดยศิลปิน และปล่อยเสียงที่ได้รับการแปลงออกมาเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองและผู้คน และเกิดเป็นเมโลดี้ออกมา

โดยผลงานนี้ยังมีด้วยกันถึงสองชิ้นคือ Metropolitan Symphony #1 และ Metropolitan Symphony #2 โดยชิ้นแรกตั้งอยู่ที่โถงต้อนรับบริเวณชั้น 1 ของ One Bangkok Tower 3 ซึ่งในอนาคตจะถูกย้ายไปติดตั้งที่ตำแหน่งดั้งเดิมของสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงซึ่งอยู่ใน Post 1928 ในขณะที่ชิ้นที่สองตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของ The Wireless House One Bangkok หรือโครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งทั้งสองชิ้นนี้สามารถสื่อสารไป-มา ระหว่างกันได้ด้วย

ขอชวนทุกคนไปคุยกับ ยูริ ซูซูกิ ถึงเบื้องหลังและแรงบันดาลใจของประติมากรรมเสียงชิ้นนี้ ที่ชวนทุกคนมาสร้างเมโลดี้ ผ่านท่วงทำนองของมหานครไปพร้อมกัน 

 

 

Metropolitan Symphony

Metropolitan Symphony

 

ก่อนอื่นเลยพอจะให้คำนิยาม ‘ศิลปะ’ ในแบบของคุณได้หรือเปล่า

การสื่อสารคือหัวใจในงานศิลปะของผมที่มักจะใช้เสียงเพื่อเชื่อมต่อกับผู้คน สำหรับผมเสียงคือหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด เสียงมีความเชื่อมโยงกับสมองอย่างใกล้ชิดเหมือนกับกลิ่น และมากกว่าการมองเห็นหรือการสัมผัส ผมมองว่าเสียงเป็นสื่อกลางที่มีพลังในการสื่อสารมาโดยตลอด จึงมักจะใช้ประสบการณ์ทางด้านเสียงเป็นศูนย์กลางในงานศิลปะเสมอ

อะไรคือแรงบันดาลใจเบื้องหลังรูปทรงลำโพงที่คุณมักจะหยิบมาใช้ในงานประติมากรรม

ต้องบอกว่ามาจากฟังก์ชันเป็นหลัก รูปทรงของผลงานนี้ถูกกำหนดด้วยการใช้งาน โครงสร้างรูปทรงกรวยช่วยในการขยายเสียงและรวบรวมเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ประสบการณ์การฟังดียิ่งขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกใช้รูปทรงนี้คือ การสื่อถึงลักษณะของเสียงในเชิงภาพที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย เพราะงานของผมส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมสาธารณะในพื้นทีเปิดซึ่งไม่ได้มีคำบรรยายประกอบ ผู้ชมต้องสามารถสังเกตได้ทันทีว่ามีเสียงเกิดขึ้นมาจากไหน ผมจึงเลือกใช้ลำโพงลักษณะนี้อยู่เสมอ

พูดถึงผลงานชิ้นปัจจุบัน อะไรคือแรงบันดาลใจเบื้องหลัง Metropolitan Symphony #1 และ Metropolitan Symphony #2

ชื่อของผลงานชิ้นนี้มากจากวงดนตรีจากญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Pizzicato Five พวกเขามีเพลงหนึ่งชื่อว่า Metropolitan Symphony ซึ่งเป็นชื่อที่สวยงามและผมชอบเอามากๆ

ตอนที่เริ่มต้นทำงานนี้ ผมคิดว่า วัน แบงค็อก มีแนวคิดที่ยอดเยี่ยมมาก เหมือนเป็นชุมชนใหม่ใจกลางมหานครอย่างกรุงเทพฯ ผมจึงรู้สึกว่างานชิ้นนี้เหมาะกับโครงการมาก เพราะมีความเกี่ยวพันกับเสียงของมนุษย์ เสียงที่ผู้คนพูดคุยและสร้างขึ้น รวมถึงเสียงที่เราได้ยินรอบตัว ผสมผสานกันอย่างลงตัวเหมือนกับฮาร์โมนี นี่คือจุดเชื่อมโยงทำให้ผมตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า Metropolitan Symphony

 

 

Metropolitan Symphony

 

เรื่องราวของสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งเป็นสถานีวิทุยโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเคยตั้งอยู่ในพื้นที่ของ วัน แบงค็อก มีอิทธิพลกับประติมากรรมชิ้นนี้อย่างไรบ้าง

สิ่งที่ผมสนใจคือการใช้ ‘เสียง’ และ ‘วัฒนธรรม’ รวมถึงการเชื่อมโยงกับผู้คนและเรื่องราวของพวกเขาด้วย การออกแบบประติมากรรมสาธารณะมาตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นด้านเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลของประเทศไทย จึงสอดคล้องกับสิ่งที่ผมทำอย่างลึกซึ้ง และนำไปสู่การสร้างประติมากรรมเสียงสองชิ้น คุณจะเห็นได้จากการเชื่อมต่อและสื่อสารกันระหว่างผลงานทั้งสอง ทั้งชิ้นที่ตั้งอยู่ด้านหน้า The Wireless House One Bangkok และล็อบบี้ของ One Bangkok Tower 3 ซึ่งจะถูกย้ายไปติดตั้งในบริเวณที่ตั้งอาคารสถานีวิทยุแห่งแรกของไทยในอนาคต

Metropolitan Symphony ถือเป็นผลงานชิ้นแรกของคุณหรือเปล่าที่ส่งสัญญาณไป-มา ระหว่างกัน

ก่อนหน้านี้ผมเคยสร้างผลงานที่สามารถสื่อสารกันในระยะใกล้ๆ ประมาณ 5 – 6 เมตร  สำหรับ Metropolitan Symphony มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในการส่งสัญญาณ และถือเป็นระยะที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยทำมาด้วย

อยากให้คุณช่วยอธิบายถึงกระบวนการส่งสัญญาณและการแปลงเสียงได้หรือเปล่า

เสียงของผู้ชมจะถูกแปลงเป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า ‘vocoder’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อส่งเสียงอย่างปลอดภัยในระยะไกล ก่อนจะถูกดัดแปลงผ่านอัลกอริทึมซึ่งรวบรวมเสียงของเมือง เพลง สภาพแวดล้อม ซึ่งจะเปลี่ยนให้เสียงของคุณกลายเป็นเมโลดี้ ซึ่งผลงานนี้จะไม่สร้างเสียงที่ซ้ำกัน ทุกครั้งที่ผู้ชมเข้ามาปฏิสัมพันธ์ ก็จะได้ยินเสียงใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมเสมอ

 

 

Metropolitan Symphony

 

สำหรับการทำงานในด้านเทคนิคของ Metropolitan Symphony เราได้ Kevin Lau ผู้อำนวยการของ MakerNet ผู้รับผิดชอบด้านการผลิตและติดตั้งประติมากรรมชิ้นนี้ ซึ่งทำงานกับ Yuri Suzuki มาอย่างต่อเนื่องช่วยไข้ข้อสงสัย

Kevin: เราใช้ไมโครโฟนที่มีความไวสูงมาก เพื่อจับและบันทึกเสียง จากนั้นมีโปรแกรมที่เป็นอัลกอริทึมที่ออกแบบมาจากมุมมองของศิลปินในการแปลงเสียงของผู้คนให้กลายเป็นโน๊ตดนตรี โดยผสมผสานกับเสียงในคลังข้อมูล เนื่องจากนี่เป็นงานที่ติดตั้งใน วัน แบงค็อก ซูซูกิซัง กระตือรือร้นมากที่จะทำความเข้าใจบริบทด้านเสียงของที่นี่ ดังนั้นเราจึงพยายามค้นหาวิธีต่าง ๆ มากมาย ในการบันทึกเสียงของกรุงเทพฯ ก่อนจะรวบรวมเข้ากับเสียงในฐานข้อมูลจนได้มาทั้งหมด 180 เสียง

ซูซูกิซัง จะปรับและแก้ไขข้อมูลเสียงทั้งหมดผ่านมุมมองและแนวคิดทางศิลปะของเขา ว่าจะทำให้ประติมากรรมชิ้นนี้เชื่อมโยงกับท้องถิ่นได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่พวกเราตั้งใจระหว่างอยู่กรุงเทพฯ คือการออกไปค้นหาเสียงต่าง ๆ ให้มากกว่านี้ เพื่ออัปเกรดซอฟต์แวร์ ซึ่งตอนนี้เป็นเวอร์ชันที่ 7 แล้ว และเราจะทำการอัปเดตต่อไปเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ของพวกเราที่ได้สัมผัสกับกรุงเทพฯ 

 

 

Metropolitan Symphony

Metropolitan Symphony

 

กลับมาที่คุณยูริ ทั้งผลงานที่ผ่านมารวมถึง Metropolitan Symphony ล้วนจัดอยู่ในข่ายของศิลปะสาธารณะ ตัวคุณเองมีมุมมองต่อศิลปะสาธารณะอย่างไรบ้าง

ศิลปะสาธารณะควรจะเป็นสาธารณะ เป็นของชุมชน และผู้คนในบริเวณนั้น สำหรับผมการสร้างประติมากรรมทองแดงที่ดูแล้วเหมือนกับ ‘ประติมากรรม’ ไม่ได้มีฟังก์ชันเพียงพอในฐานะศิลปะสาธารณะ ผมมองว่าสิ่งสำคัญสำหรับชุมชม คือศิลปะสาธารณะที่สามารถใช้งานได้และถูกใช้อย่างต่อเนื่อง

ผลงานชิ้นนี้จะเหมาะสมลงตัวกับ วัน แบงค็อก ซึ่งเป็นทั้งสถานที่และชุมชนแห่งใหม่ งานชิ้นนี้จะส่งนำมาซึ่งกิจกรรมที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวา และมาพร้อมกันกับฟังก์ชันเหมือนกับที่ผมนั่งอยู่ตรงนี้ ราวกับประติมากรรมเสียงนี้เป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ การใช้งานที่หลากหลายคือศิลปะสาธารณะของผม

ผลงานของคุณก้าวไปไกลกว่าคำว่าประติมากรรม แต่ยังดึงดูดให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม อะไรคือความตั้งใจเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้

สำหรับผลงานชิ้นนี้ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่มองว่ามันเป็นงานที่สนุกและดึงดูดให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหน้าที่ของงานศิลปะสาธารณะ เพราะมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่างานที่ทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวที่จะสัมผัสหรือเข้าใกล้ เพราะบางครั้งประติมากรรมดูเหมือนมีราคาสูงเกินไปหรือเข้าถึงยาก แต่ผลงานนี้เปิดกว้างและชวนให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม ผมว่ามันเหมาะสำหรับทุกคน 

 

 

แท็ก

ศิลปะและวัฒนธรรม
วัน แบงค็อก

แชร์

ค้นหากิจกรรมและข้อมูลอื่นๆ ใน วัน แบงค็อก